การประกันภัยขนส่งสินค้า (Cargo Insurance)

  • 05 May 2023

การประกันภัยขนส่งสินค้า (Cargo Insurance)
การประกันภัยขนส่งสินค้า เป็นการประกันเพื่อคุ้มครองสินค้าหรือทรัพย์สินที่ขนส่งจากผู้ขายไปยังผู้ซื้อโดยทางเรือเดินสมุทร เครื่องบินพาณิชย์ หรือทางพัสดุไปรษณีย์ จากอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เรือถูกไฟไหม้ เรือจม และความเสียหายจากการขนถ่ายสินค้าขึ้นลงจากเรือ หรืออาจขยายความคุ้มครองความเสียหายถึงขณะลำเลียงสินค้าทางรถยนต์หรือรถไฟ เป็นต้น ภัยที่ได้รับความคุ้มครองขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันภัยเลือกซื้อความคุ้มครองไว้
ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบจ่ายเบี้ยประกันคือ เจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้า ทั้งนี้ในกรณีที่สินค้าเกิดความเสียหาย เฉพาะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าเท่านั้น ที่มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับตนเองได้
ประเภทการประกันภัยขนส่งสินค้า
1. การประกันภัยขนส่งสินค้าภายในประเทศ (Inland Transit)
การประกันภัยคุ้มครองความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งที่อยู่ภายในประเทศ เช่น การขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังผู้เป็นเจ้าของสินค้าที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องเป็นเจ้าของสินค้า ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งสินค้าเอง หรือว่าจ้างบริษัทขนส่งเป็นผู้ขนส่งสินค้า ด้วยยานพาหนะที่ระบุในกรมธรรม์
ประเภทกรมธรรม์ประกันภัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) กรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกชนิด อันมีสาเหตุจาก
- ความเสียหายหรือความสูญเสียโดยสิ้นเชิงหรือบางส่วนของสินค้าที่เอาประกันภัยอันเกิดจากอุบัติเหตุหรือสาเหตุภายนอก
- ความเสียหายทั่วไป (General Average) ที่เกิดขึ้นกับสินค้าที่เอาประกันภัย รวมทั้งส่วนเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป (General Average Contribution) และค่ากู้ภัย (Salvage Charges) ที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องชดใช้ตามประเพณีปฏิบัติหรือตามกฎหมาย
2) กรมธรรม์ประกันภัยแบบระบุภัย อันมีสาเหตุจาก
- อัคคีภัย การระเบิด หรือฟ้าผ่า
- ยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่ง หรือสินค้าที่เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุชนหรือโดนกับยานพาหนะอื่น หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดนอกยานพาหนะ รวมถึงหัวลากและหางลาก หรือรถพ่วงของยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งนั้นเอง
- เรือจมหรือเกยตื้น เครื่องบินตก รถไฟตกราง รถ รวมถึงหัวลากและหางลาก หรือรถพ่วงพลิกคว่ำ หรือตกถนน หรือตกสะพาน หรือตกไหล่ทาง
- ภัยเพิ่มพิเศษที่ได้ระบุไว้ชัดเจนในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

ระยะเวลาความคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
• แบบกำหนดเวลา (Time Policy)
ให้ความคุ้มครองตามระยะเวลาคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยสามารถกำหนดวันและเวลาคุ้มครองได้ตามที่ต้องการ ยกเว้นเวลาสิ้นสุดของกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทประกันภัยจะกำหนดเป็นมาตรฐานไว้ที่เวลา 12.00 น.
• แบบขนส่งเฉพาะเที่ยว (Voyage Policy)
ให้ความคุ้มครองสินค้าเฉพาะเที่ยว ความคุ้มครองจะสิ้นสุดเมื่อสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง หรือครบกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย แล้วแต่เหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก่อน หากมีการขนส่งสินค้าเที่ยวใหม่ ผู้เอาประกันภัยต้องแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่

2. การประกันภัยขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Marine Cargo Insurance)
การทำประกันภัยความเสียหายในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง โดยทั่วไปจะเป็นการขนส่งสินค้าด้วยเรือเดินทะเล ซึ่งมีการบรรทุกสินค้าเป็นจำนวนมาก การขนส่งสินค้าทางทะเลมักจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสินค้าเป็นประจำ ดังนั้นการประกันภัยจึงมีส่วนช่วยให้เจ้าของสินค้าไม่ต้องเดือดร้อนจากการที่สินค้าได้รับความเสียหายจากการขนส่งทางทะเล
ผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดทำประกันภัย
 
อาจจะเป็นผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกสินค้า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับ Incoterm หรือข้อตกลงในการส่งมอบสินค้าระหว่างประเทศ เช่น FOB (Free on Board) ผู้ขายมีภาระรับผิดชอบต้องส่งมอบของลงเรือ ณ ท่าส่งออกที่ได้ระบุไว้ ส่วนผู้ซื้อจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมทั้งความเสี่ยงต่อความเสียหายหรือสูญหายที่เกิดขึ้นเมื่อของอยู่บนเรือ หรือ CIF (Cost Insurance and Freight) ผู้ขายมีภาระรับผิดชอบการทำประกันภัยในความเสี่ยงภัยต่อการเสียหาย หรือสูญหายระหว่างการขนส่งจนถึงท่าปลายทาง และเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
ดังนั้น ผู้นำเข้าส่งออกควรซื้อประกันเพื่อคุ้มครองสินค้าหรือทรัพย์สิน จากอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้    

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย | การประกันภัยขนส่งสินค้า (oic.or.th)

Share This :

More News & Events :

See All News & Events

Why Join EASY DIRECTORY ?

Our members enjoy unparalleled business growth. As the world’s largest referral network,
BNI passed over 2 million referrals last year, resulting in more than ฿700 billion in business.